การก่อตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA )

บทความ  โดย : พรทิพย์   โรจนพิทยากร

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๙  เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาผู้มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารและด้านเศรษฐกิจเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ นับจากเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ สถาบันยังดำรงความเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการบริหารการพัฒนา  ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตที่เพียบพร้อมทั้งความรู้ทางวิชาการและคุณธรรม เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ  ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันได้ปฏิบัติงานในระดับบริหารกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  ได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทย

พัฒนาการของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันตระหนักในภารกิจซึ่งเป็นที่คาดหวังของผู้บริหารประเทศและประชาชน คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของสถาบันได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม การให้บริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากพัฒนาการของสถาบันตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

ยุคก่อตั้ง (พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๙)

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศนโยบายเร่งรัดพัฒนาประเทศและกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔  จำเป็นที่ต้องใช้นักบริหารในสาขาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการบริหารราชการ จึงได้ขยายคณะรัฐประศาสน-ศาสตร์ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา แยกออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation)และความช่วยเหลือทางวิชาการจาก MUCIA (Midwest Universities Consortium for International Activities ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ อินเดียนา มิชิแกนเสตท วิสคอนซิน และมินนิโซต้า แห่งสหรัฐอเมริกา)โดยปรับปรุงและขยายงานเดิมของคณะรัฐ-ประศาสนศาสตร์ ฝ่ายฝึกอบรมข้าราชการ ฝ่ายวิจัย และฝ่ายห้องสมุด และยกฐานะของ ๓ ฝ่ายนี้ขึ้นเป็นสำนัก ได้รวมการสอนวิชาพัฒนาการเศรษฐกิจและวิชาสถิติประยุกต์ ซึ่งขณะนั้นดำเนินการโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าไว้ แล้วขยายเป็นคณะวิชาระดับปริญญาโทและจัดตั้งคณะบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทเพื่อผลิตนักธุรกิจระดับผู้จัดการซึ่งเป็นการรับช่วงจากการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีทางการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยดำเนินการอยู่ ๓ แห่งด้วยกัน

นับตั้งแต่สถาปนา สถาบันได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการบริหารการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาการบริหารการพัฒนา การฝึกอบรมให้แก่ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ คณาจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการสำคัญและทำการวิจัยให้แก่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ การเป็นผู้นำทางวิชาการโดยการจัดพิมพ์หนังสือ”ใครเป็นใครในประเทศไทย” และ “ชีวประวัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”เป็นครั้งแรกในประเทศ และริเริ่มการสำรวจประชามติภายใต้ชื่อ”นิด้าโพล” เป็นแห่งแรก สถาบันให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมในการบริหารสถาบันด้วยการจัดให้มีการสรรหาอธิการบดีและเปิดโอกาสให้ประชาคมแสดงมติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของผู้ได้รับการสรรหา

ยุคสร้างสรรค์และพัฒนา (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๙)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ปรับเปลี่ยนเข้าสู่บริบทใหม่ทั้งด้านความก้าวหน้าทางวิทยาการ การสร้างเครือข่ายเพื่อความรู้แก่สังคม การให้ความสำคัญแก่การสื่อสาร และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มด้วยการเปิดโครงการปริญญาเอกสองสาขาคือ สาขาประชากรและการพัฒนา (ปีการศึกษา ๒๕๒๕) และ สาขาการบริหารการพัฒนา (ปีการศึกษา ๒๕๒๗) ต่อมาได้จัดตั้ง  “ศูนย์บริการวิชาการ”(พ.ศ.๒๕๒๐) เพื่อให้คณาจารย์ของสถาบันให้บริการด้านการให้คำปรึกษาการจัดวางระบบงาน การวิจัย การฝึกอบรมแก่หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ห้า (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๙) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ประการหนึ่งว่า ต้องการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจออกไปในภูมิภาค เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สถาบันได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย ดำเนินการฝึกอบรมนักธุรกิจภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เรียกว่า โครงการ “NIDA IMET” โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักธุรกิจภูมิภาคสามารถมองภาพรวมและผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กัน และสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมต่อสังคม นอกจากนี้ สถาบันเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อสารทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือกระจายข้อมูลที่สำคัญ คณาจารย์ของสถาบันและของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นพ้องกันว่าควรมีการยกระดับมาตรฐานของการโฆษณาในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดประกวดโฆษณายอดเยี่ยมประจำปี ๒๕๑๙ (Top Ten TV Commercial ๑๙๗๖) ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้ขยายขอบข่ายเป็น การประกวดโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย (Top Advertising Contest of Thailand Awards)หรือเรียกโดยย่อว่า TACT Awards โดยมีคณาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าร่วมดำเนินการด้วย

สถาบันตระหนักดีว่านักบริหารในสังคมสารสนเทศจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนและการวินิจฉัยสั่งการเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินงานอย่างทันเวลา และเพื่อแลกเปลี่ยนสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว สถาบันจึงได้ร่วมมือกับบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาระบบสารสนเทศ”(Information Systems Education Center – ISEC พ.ศ.๒๕๒๗) และยกสถานะเป็นสำนักการศึกษาระบบสารสนเทศ ปัจจุบันได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “สำนักสิริพัฒนา”(Siripattana Training Center)ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2555 ศูนย์ดังกล่าวทำให้สถาบันขยายบทบาทไปสู่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารการพัฒนา

ยุคขยายโอกาสทางการศึกษา (พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๙)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ขยายขอบข่ายการศึกษาให้กว้างขวางสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและวัตถุประสงค์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๙) รวมทั้งเน้นบทบาทในการเป็นสถาบันการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ เริ่มด้วยคณะรัฐประศาสน-ศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับนักบริหารภาคพิเศษเป็นหลักสูตรแรก โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ ๑ ในภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๓๐ วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานและอยู่ในสายงานอาชีพนักบริหารที่ประสงค์จะเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการบริหารได้มีแหล่งศึกษาต่อ หลักสูตรดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริหารจำนวนมาก  ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๓๓ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับผู้บริหารภาคพิเศษในส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรกในสองจังหวัดคือ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดนครราชสีมา และขยายเพิ่มเติมไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาทิ สุราษฎร์ธานี สงขลา(หาดใหญ่) อุบลราชธานี ลำปาง และคณะที่เปิดหลักสูตรปริญญาโท ภาคพิเศษในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๔ และยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน คือหลักสูตรปริญญาโททางพัฒนาสังคมภาคพิเศษ ของคณะพัฒนาสังคม (ปัจจุบันคือคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม)

ปีการศึกษา ๒๕๓๕ สถาบันได้ร่วมโครงการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกสาขาการบริหารธุรกิจกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Joint Doctoral Business Administration ชื่อย่อว่า JDBA)โดยมอบให้คณะบริหารธุรกิจรับไปดำเนินงาน ต่อมาได้ขยายการศึกษาไปยังจังหวัดนครราชสีมา โดยเปิดศูนย์การศึกษาสีคิ้วเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๘

ยุคสร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๕๔)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ลดภารกิจด้านการเรียนการสอนหลักสูตรภาคพิเศษลงและมุ่งภารกิจด้านการวิจัยและด้านวิชาการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ  เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ในช่วงการบริหารงานของอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้

ด้านวิชาการ

๑)      การปรับปรุงระเบียบการให้ทุนวิจัยสมบูรณ์แบบเพื่อให้คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันได้

พัฒนาองค์ความรู้และผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อการเรียน การสอนในสาขาต่าง ๆ ของสถาบัน และส่งเสริมให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

๒)     การประกวดวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก เพื่อส่งเสริมการศึกษา

ด้านพัฒนบริหารศาสตร์ให้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง และเป็นการพัฒนาผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทั้งสองระดับ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี (จัดในวันสถาปนาสถาบัน ๑ เมษายน ของทุกปี) และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น

๓)      การเปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกหลายสาขา อาทิ หลักสูตรปริญญาโทสาขา

เศรษฐศาสตร์การเงิน ของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ การสื่อสารประยุกต์ ของคณะภาษาและการสื่อสาร การจัดการโลจิสติกส์ ของคณะสถิติประยุกต์ กฎหมายสำหรับนักบริหาร ของคณะนิติศาสตร์ การจัดการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ คณะการจัดการการท่องเที่ยว ส่วนหลักสูตรปริญญาเอก เช่น  การเงินเป็นหลักสูตรนานาชาติ ของคณะบริหารธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ เป็นหลักสูตรนานาชาติ ของคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภาษาและการสื่อสาร เป็นหลักสูตรนานาชาติ ของคณะภาษาและการสื่อสาร

            การเรียนการสอน

๑)     การส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์จัดทำกรณีศึกษาเพื่อพัฒนาและเป็นแนวทางไปสู่การเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษาของสถาบันต่อไป

๒)     การส่งเสริมการจัดทำ e-Learning (เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๕๑) เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาใช้เป็นเครื่องมือเสริมในการบริหารจัดการการเรียนการสอน โดยคณาจารย์และนักศึกษาได้เตรียมการล่วงหน้า และใช้เวลาในชั้นเรียนซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งนักศึกษาได้ใช้ทบทวนบทเรียนโครงการพัฒนาสู่การเป็น World Class ทางด้านเทคโนโลยี และห้องสมุด

 

 

บรรณานุกรม

กรมวิเทศสหการ.  ๒๕๐๙.  กำเนิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  พระนคร: กรมวิเทศสหการ. ๓๙๒ หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๒๙.                                                              

ครบรอบ ๒๐ ปี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. กรุงเทพมหานคร:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๗๖ หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๓๓.  ๒๕๐๙-๒๕๓๓    

ยี่สิบสี่ปีแห่งการสถาปนา. กรุงเทพมหานคร:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๖๐ หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๔๕.                                                                                                

๓๖ ปี สพบ.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ๒๔๕  หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๔๙.                        

๔ ทศวรรษ พัฒนบริหาร.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๑๖๘ หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๕๔.                                                                                                  

สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๘๘  หน้า.  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ๒๕๕๖.                                                  

ผลงานการบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๖.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๑๕๕  หน้า

 

3 thoughts on “การก่อตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA”

Comments are closed.