การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA MUSEUM)

การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์

บทความ  โดย : พรทิพย์   โรจนพิทยากร

สถาบันได้พัฒนา ปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงหลายประการด้วยความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติและการเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก  สถาบันได้กำหนดค่านิยมใหม่คือ “สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ WISDOM for Changeซึ่งการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดในช่วงการบริหารงานของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ โดยมีแนวคิดในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงเพื่ออบรมวิชาเศรษฐกิจ ตลอดจนวิชาการบริหารสำหรับผู้ที่จะมีหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเชิดชูบทบาทของคณาจารย์และนักศึกษานิด้าซึ่งมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศ อธิการบดีได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนาในขณะนั้นคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ระวีวรรณ เอื้อพันธ์วิริยะกุล แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (คำสั่งสถาบันที่ ๕๕๐/๒๕๕๓ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓) คณะกรรมการฯ ได้จัดการประชุมรวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง และได้จัดเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว      นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๔ หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อกำหนดและขอบเขตงานจ้างเหมาออกแบบ พร้อมจัดหา จัดทำและประกอบติดตั้ง งานตกแต่งภายใน    งานจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ๑ ชุด และ คณะกรรมการตรวจการจ้าง ๑ ชุด (คำสั่งสถาบันที่ ๓๙๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕) คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบริษัทที่นำเสนอแบบพร้อมแนวคิดตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งบริษัทซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ได้รับคัดเลือก

วัตถุประสงค์การก่อตั้ง
๑. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในด้านการศึกษา

๒. เพื่อให้สังคมเห็นถึงความมีบทบาทสำคัญของสถาบัน กับการพัฒนาประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

๓. เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงเอกสาร หลักฐานที่สะท้อนถึงเกียรติภูมิของสถาบันในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

เนื้อหาของพิพิธภัณฑ์

การนำเสนอเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ โซน ดังนี้

โซนที่ ๑ จากพระราชปณิธาน สู่สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ

นำเสนอแนวพระราชดำริอันเป็นที่มาของการก่อตั้งสถาบัน  ความสนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการบุกเบิกก่อตั้งสถาบัน รวมทั้งความร่วมมือและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ คือ นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์  ดร.สเตซีย์ เมย์ และมูลนิธิฟอร์ด

นำเสนอด้วยเทคนิค Transparent Display  คือการผสมผสานเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอผ่านวัตถุที่จัดแสดง ควบคู่ไปกับอินเทอแรคทีฟ (Interactive)

โซน  ๒ ประวัติศาสตร์สังคมไทย ประวัติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

นำเสนอประวัติศาสตร์ของสถาบันควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์สังคมไทย โดยแบ่งเป็น ๕ ทศวรรษ เสนอผ่านวิดีทัศน์  ๒๐ เรื่องได้แก่

๑)     ทศวรรษที่ ๑(พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

–  ๑๔ ตุลาคม ประชาชน ประชาธิปไตย  เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และการเสียชีวิตของนายจีระ บุญมาก นิสิตปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจของสถาบัน

–  บุกเบิกสถาบัน  ผู้มีส่วนในการก่อตั้งสถาบัน อาทิ ศาสตราจารย์ บุญชนะ อัตถากร ศาสตราจารย์ ดร.มาลัย หุวะนันทน์ ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ กาญจนประกร และท่านอื่น ๆ

–  ประชาธิปไตยเบ่งบาน สรรหาอธิการบดีโดยคนในสถาบัน  การสรรหาและให้บุคลากรของสถาบันลงคะแนนเสียงเลือกอธิการบดีเป็นครั้งแรกของสถาบันและของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

–  นิด้าโพล กระบอกเสียงสะท้อนสังคม  การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๘ และการพัฒนานิด้าโพลในปัจจุบัน

๒)     ทศวรรษที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๘) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

–  วิชาการเพื่อสังคม  การก่อตั้งศูนย์บริการวิชาการซึ่งเป็นศูนย์บริการวิชาการแห่งแรกของสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศไทย

–  TACT Awards  ค้นหา ยกระดับโฆษณาไทย  การก่อตั้ง TACT Awardsด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

–  NIDA IMET สร้างเครือข่ายในภูมิภาค  โครงการ NIDA IMET ซึ่งเปิดอบรมนักธุรกิจในส่วนภูมิภาค มีการจัดอบรมต่อเนื่องกัน ถึง ๘ รุ่น ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๓๔

๓)     ทศวรรษที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๘)มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

–  ฝึกอบรมเพื่อพัฒนา  การฝึกอบรมเป็นภารกิจสำคัญตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบัน ต่อมาได้จัดตั้งสำนักฝึกอบรมเพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บทบาทดังกล่าวยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

– วิจัยเพื่อต่อยอดความรู้  การวิจัยเป็นภารกิจสำคัญอีกภารกิจหนึ่งของสถาบัน วัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ เพิ่มพูนองค์ความรู้ และนำไปพัฒนาการเรียนการสอน และให้บุคลากรได้นำความรู้ไปพัฒนางานที่รับผิดชอบ

–  ศูนย์ข่าวจีระ บุญมาก  การก่อตั้งศูนย์ข่าว จีระ บุญมาก เพื่อประสานงานตามหาบุคคลที่สูญหายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕

–  ขยายโอกาสทางการศึกษา  การเปิดหลักสูตรภาคพิเศษของสถาบันทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในภาคปกติได้

๔)     ทศวรรษที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๘) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

–  ศูนย์การศึกษาสีคิ้ว  การก่อตั้งศูนย์การศึกษาสีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์การศึกษาแห่งเดียวที่มีอาคารเรียนของตนเอง

–  ค่า FT  ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล อาจารย์ของสถาบัน ได้เสนอสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า FT) ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนที่เป็นจริง

–  พอเพียงอย่างเพียงพอ  การก่อตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงในปีพ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้บุคลากรของสถาบัน และเผยแพร่สู่สังคม

–  ประกันต้นทุนการผลิตเพื่อชาวนาไทย  ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์    วิกิตเศรษฐ และคณะวิจัยได้เสนอแนวทางประกันต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือชาวนา เมื่อผลผลิตเสียหายจากภาวะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง

๕)     ทศวรรษที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๔๙-ปัจจุบัน)มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

–  โตไปไม่โกง  โครงการโตไปไม่โกง ซึ่งสถาบันดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่สร้างค่านิยมใหม่ให้ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่นและกลโกงทุกรูปแบบ

– โครงการปริญญาเอกและวิทยาลัยนานาชาติ  การเปิดสอนระดับปริญญาเอกและวิทยาลัยนานาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก

–  Living Library  การปรับกายภาพของสำนักบรรณสารการพัฒนา ให้เป็นห้องสมุดที่ทันสมัย มีสภาพแวดล้อมสะดวกสบาย และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในยุคดิจิตอล

– WISDOM for Change  เป็นแนวทางการพัฒนาสถาบันสู่มาตรฐานระดับโลก โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน อาคาร สถานที่ และสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

โซน ๓  สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง

นำเสนอแนวคิดในการบริหารสถาบันของอธิการบดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาสถาบันในอนาคต ผ่านจอขนาดใหญ่ และโซนนี้มีเสาแห่งปัญญาให้ผู้ชมได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกและโพสต์ขึ้นเฟซบุคของพิพิธภัณฑ์

            พิพิธภัณฑ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้ามิวเซียมตั้งอยู่ที่ ชั้น ๒ อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ เปิดให้ชมในวันราชการ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๓๐ น. ขอเชิญชวนคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และผู้ที่สนใจมาร่วมชื่นชมกับเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของสถาบันที่ได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด

บรรณานุกรม

กรมวิเทศสหการ.  ๒๕๐๙.  กำเนิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  พระนคร: กรมวิเทศสหการ. ๓๙๒ หน้า.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๒๙.  

ครบรอบ ๒๐ ปี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. กรุงเทพมหานคร:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๗๖ หน้า. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๓๓.  

๒๕๐๙-๒๕๓๓ ยี่สิบสี่ปีแห่งการสถาปนา. กรุงเทพมหานคร:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๖๐ หน้า. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๔๕.  

๓๖ ปี สพบ.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ๒๔๕  หน้า. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๔๙

๔ ทศวรรษ พัฒนบริหาร.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๑๖๘ หน้า. ๒๕๕๔. 

สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๘๘  หน้า. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๒๕๕๖. 

ผลงานการบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๖.  กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  ๑๕๕  หน้า.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *